1. แสงแดด รังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดสามารถทำให้ผิวหนังเกิดริ้วรอยก่อนวัยได้ เพราะแสงแดดเป็นตัวทำลายคอลลาเจนที่เป็นเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่ประสานเซลล์ผิวหนังเข้าด้วยกันและไฟเบอร์อีลาสตินในผิวหนังจะหนาขึ้นเมื่อได้รับแสงแดดมากเกินไป หลาย ๆ คน โดยเฉพาะฝรั่งที่นิยมอาบแดดทำผิวสีแทน อาจจะเป็นที่นิยมแต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผิวหนัง และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งผิวหนังด้วย ส่วนกลไกการเกิดผิวสีแทนนั้น เมื่อผิวหนังของเราโดนแสงแดดจะไปกระตุ้นเม็ดสีเมลาโนไซท์ให้ปล่อยเมลานินออกมา และเม็ดสีจะย้ายไปอยู่ที่พื้นผิวของผิวหนังและทำให้เกิดสีน้ำตาลขึ้น เพื่อปกป้องผิวจากการถูกทำลายโดยแสงแดด นอกจากนี้ความร้อนจากแสงแดดยังเป็นตัวทำให้น้ำมันที่เคลือบผิวหนังลดน้อยลงอีกด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผิวหนังลอกเป็นสะเก็ดและแห้ง
2. อากาศแห้ง อย่างฤดูหนาว ความชื้นในอากาศจะต่ำลงเป็นสาเหตุทำให้ผิวแห้งหยาบ ส่วนลมหนาวจะเป็นตัวทำให้ผิวแห้งแตกและดึงความชุ่มชื้นออกจากผิวหนัง ดังนั้นเมื่ออากาศหนาว ๆ เราจึงจำเป็นต้องทาโลชั่นป้องกันผิวไว้ทั้งตัว ส่วนเครื่องทำน้ำอุ่นก็ทำให้ผิวแห้งได้เช่นกัน นอกจากนี้เครื่องปรับอากาศในเมืองร้อนและอากาศเทียมบนเครื่องบินก็ทำให้ผิวแห้งได้ด้วย เราจึงจำเป็นต้องทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้นให้ทั่วผิวด้วย
3. อากาศหนาว อากาศที่หนาวจัดจะทำให้เส้นเลือดหดตัว เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ไม่ดีนัก เราจึงจำเป็นต้องมีการออกกำลังบริหารร่างกายเพื่อกระตุ้นเลือดให้ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายรวมถึงผิวหนังด้วย และควรสวมเสื้อผ้าให้ความอบอุ่น รวมทั้งการปรับอุณหภูมิของน้ำอุ่นที่ใช้อาบให้เย็นขึ้น
4. มลภาวะในอากาศ ฝุ่นควันเสีย ควันจากอาหาร ฯลฯ จะทำให้มีสารตกค้างที่ผิวหนังจนส่งผลทำให้ผิวพรรณเสื่อมโทรมและดูหมองคล้ำ ซึ่งปกติแล้วเยื่อหุ้มเซลล์จะเป็นด่านป้องกันที่สำคัญของร่างกายและมีหน้าที่ตัดสินว่าสารตัวใดที่ควรหรือไม่ควรจะนำเข้าสู่ร่างกาย สารอันตรายจะถูกกันออกจากเซลล์โดยเยื่อหุ้มเซลล์ได้ในปริมาณหนึ่ง แต่ถ้ามากเกินไปก็จะกันไม่ได้ (สารอนุมูลอิสระสามารถทำลายกลไกนี้ได้)
5. ความเครียด เป็นสาเหตุทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียดและการทำงานของร่างกายแปรปรวนในหลายระบบ รวมทั้งการขับถ่ายของเสีย สารพิษ และทำให้ผิวหนังเสื่อมง่าย
6. สารตกค้าง ในอาหารหลายชนิดก็เป็นสาเหตุทำให้ร่างกายไม่สดใสงดงามได้ อีกทั้งยังเป็นอนุมูลอิสระที่คอยทำให้เซลล์เสื่อมและแก่ชรา เช่น สารกันบูด สารกันรา ยาฆ่าแมลง เป็นต้น
7. การสูบบุหรี่ อีกสาเหตุที่ทำให้เกิดสารอันตรายเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทำให้หลอดเลือดหดตัว และทำให้การส่งสารอาหารไปตามหลอดเลือดแย่ลง
8. ยาเสพติด ก็ทำให้เกิดสารอันตรายทำลายเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้เช่นกัน และยังมีสารอนุมูลอิสระที่ทำลายเซลล์ให้เสื่อม แก่ชรา และอาจกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
9. เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น น้ำชา กาแฟ จะทำให้เนื้อเยื่อทั่วร่างกายและผิวหนังขาดน้ำจนเกิดรอยเหี่ยวย่นและเกิดถุงใต้ตาได้ง่าย
10. แสงไฟที่สว่างจากจอคอมพิวเตอร์ จอโทรศัพท์ที่มีรังสีต่าง ๆ จะไปกระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสีดำมากขึ้นและกระจายสู่หนังกำพร้าได้เช่นเดียวกับแสงอาทิตย์
11. น้ำหนักตัวที่ลดลงอย่างรวดเร็ว มีผลทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นและหย่อนยานอย่างชัดเจน ดังนั้นการควบคุมน้ำหนักตัวให้คงที่จะช่วยป้องกันการเกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นได้